"สร้างเว็บไซต์" คงจะเป็นเรื่องยุ่งยากไม่น้อยสำหรับหลายท่านที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มากนัก เพราะส่วนใหญ่ก็มักจะพึ่งพาโปรแกรมเมอร์หรือเว็บดีไซน์เป็นหลัก การมีระบบเว็บไซต์สำเร็จรูปเข้ามาช่วยให้ปัญหาด้านเทคนิคต่างๆลดน้อยลงไปมาก เหลือเพียงแค่คลิกและอัพโหลดข้อมูลเท่านั้น แต่กระนั้น การจะเปิดเว็บไซต์แต่ละครั้ง ยังคงต้องสำรวจสิ่งที่ต้องใช้ประกอบการทำเว็บไซต์หลายสิ่ง โดย 10 ข้อแนะนำที่จำเป็นต้องทราบก่อนจะทำเว็บไซต์ มีดังนี้
1. วัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของเว็บไซต์
การมีเว็บไซต์เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ชั้นยอด ด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อย แต่สามารถมีผู้คนเข้ามาชมได้ทั่วทุกมุมโลก แต่เว็บไซต์ที่จะสามารถยืนหยัดอยู่ได้นานจริงๆจำเป็นจะต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนอยู่ในตัว เช่น เป็นเว็บไซต์ส่วนตัว เว็บไซต์ขายของ หรือเว็บไซต์เพื่อการประชาสัมพันธ์ และหากเป็นเว็บขายของ ก็ควรจะมีความชัดเจนเรื่องตัวสินค้า ไม่ควรนำสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องมาปะปนกัน เช่น คนเข้ามาแล้วเห็นประกาศขายชุดจานเมลานีนอยู่ข้างๆ โฆษณาปุ๋ยยูเรียอยู่ในเว็บไซต์ นอกเสียจากว่านั่นเป็นเว็บประกาศขายสินค้าทั่วไป เป็นต้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการทำเว็บไซต์เป็นสำคัญ
2. รู้จักกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้เข้าชมเว็บ
เมื่อรู้แน่ชัดแล้วว่า วัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของเว็บไซต์คืออะไร ต่อมาก็คือการรู้จักกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้เข้าชมเว็บไซต์ด้วย การรู้จักว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร จะเป็นตัวกำหนดทิศทางในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าควรลงโฆษณาในหมวดหมู่ใด ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ขายเครื่องเสียงรถยนต์ ก็ควรลงโฆษณาในเว็บไซต์หมวดหมู่ประกาศขายอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ ซึ่งจะมีกลุ่มคนที่สนใจอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์เข้าไปดูข้อมูลในหมวดหมู่ประกาศดังกล่าว และนำมาสู่การดูข้อมูลในเว็บไซต์ที่ลงประกาศไว้ เป็นต้น
3. มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ตอยู่บ้าง
แม้คนส่วนใหญ่จะคิดว่า ความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต สามารถเรียนรู้กันได้ในภายหลัง แต่สำหรับผู้ที่จะทำหน้าที่เว็บมาสเตอร์แล้ว ความรู้ที่จำเป็นต้องมีได้แก่ การใช้โปรแกรมเบื้องต้นทั่วไปในเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น Microsoft Office Word , การเซฟไฟล์งาน, การอัพโหลดรูปภาพ, การย่อขยายรูปภาพอย่างง่ายด้วยโปรแกรม Photoscape หรือ ACDC, การรับส่งอีเมล, การโพสต์กระทู้, การทำลิงค์ เป็นต้น
โปรแกรมเหล่านี้จะช่วยได้มากในกรณีที่ท่านใช้ระบบเว็บไซต์สำเร็จรูป ReadyPlanet เพราะเป็นโปรแกรมที่ใช้ในขั้นตอนการเตรียมข้อมูลสำหรับนำมาใส่ในระบบเว็บไซต์สำเร็จรูป รวมไปถึงเครื่องมือในระบบเว็บไซต์สำเร็จรูปมีลักษณะการใช้งานคล้ายกับบางโปรแกรม ดังนั้น หากมีพื้นฐานการใช้งานโปรแกรมข้างต้นมาแล้ว จะสามารถใช้งานเครื่องมือในระบบเว็บไซต์สำเร็จรูปได้อย่างแน่นอน
4. ศึกษารายละเอียดของการเปิดเว็บไซต์
การศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการทำเว็บไซต์ มีความสำคัญและจำเป็นต้องวางแผนให้รอบคอบอย่างยิ่ง หลาย ๆ ท่านที่ต้องการมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง แต่ขาดความเชี่ยวชาญ ไม่มีความรู้ และประสบการณ์ในการทำเว็บไซต์มาก่อน จำเป็นจะต้องพึ่งพาอาศัยโปรแกรมเมอร์และเว็บดีไซเนอร์เป็นอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการแก้ไขข้อมูลแต่ละครั้ง อีกทั้งยังต้องมองหาโฮสติ้งที่ดีและราคาไม่แพงนักในการออนไลน์เว็บไซต์ขึ้นบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งเสี่ยงกับปัญหาผู้ให้บริการไม่ใส่ใจ โฮสติ้งไม่ดี เซอร์เวอร์ล่มบ่อยตามมา
ทั้งหมดนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ระบบเว็บไซต์สำเร็จรูป ReadyPlanet ซึ่งราคาประหยัด สามารถอัพเดทข้อมูลและรูปภาพได้เองตลอดเวลา ตัดปัญหาค่าใช้จ่ายบานปลาย และไม่ต้องจ้างโปรแกรมเมอร์เพิ่ม อีกทั้งได้หน้าเว็บไซต์ที่สวยงาม เพราะระบบมีรูปแบบเว็บไซต์ (เทมเพลต) ให้เลือกมากมาย โดยได้รับการออกแบบมาอย่างสวยงามและน่าเชื่อถือ
5. เลือกชื่อโดเมนเนมที่เหมาะสม และจดจำง่าย
จากที่ได้แนะนำรายละเอียดในบทความ เรื่อง "ความหมายและความสำคัญของการจดทะเบียนโดเมน" ว่า ชื่อโดเมนเนม ควรเป็นชื่อที่ไม่ยาวมากเกินไป ง่ายต่อการจดจำและสื่อถึงเนื้อความในเว็บไซต์ได้เป็นอย่างดี เช่น เว็บไซต์รับจองที่พักในประเทศไทย ก็ควรใช้ชื่อที่เข้าใจง่าย อย่างเช่น Thailandhotels.com เป็นต้น ส่วนนามสกุลนั้น ดอทคอม (.com) จะได้รับความนิยมเป็นอันดับแรก รองลงมาก็จะเป็น .net, .co.th, .biz, .org ซึ่งก็สามารถใช้ได้เช่นเดียวกัน ควรหลีกเลี่ยงชื่อโดเมนเนมที่ต้องใช้เครื่องหมาย- หรือ _ คั่นตัวอักษร เพราะคนส่วนมากจะพิมพ์เฉพาะตัวอักษรในการค้นหาเว็บ และไม่ควรใช้ชื่อเว็บไซต์ที่เป็นซับโดเมน ซึ่งส่วนมากจะเป็นเว็บไซต์แจกฟรีซึ่งชื่อของเราจะต้องผูกติดอยู่กับเจ้าของพื้นที่ไปตลอด เช่น www.myname.anotherweb.com
6. ศึกษากฏหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ต่างๆบนเว็บไซต์
ถึงแม้อินเตอร์เน็ตจะเพิ่งเข้ามามีบทบาทแพร่หลายในบ้านเราเมื่อไม่กี่ปีมานี้ แต่การล่วงละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็สามารถนำปัญหาและความวุ่นวายตามมาได้ ในปัจจุบันนี้มีการออกกฏหมาย พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ ผู้ทำเว็บไซต์ควรศึกษารายละเอียดให้ดี
7. เตรียมข้อมูลให้พร้อม
การอัพเดทเว็บไซต์ขึ้นมาใหม่นั้น ข้อมูลที่เตรียมมาพร้อมก็เป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากในระยะ 1-2 สัปดาห์แรก จะเป็นช่วงที่ต้องวางโครงสร้างของทั้งเว็บไซต์ การแบ่งหมวดหมู่ของเนื้อหา จัดคอลัมน์ และอัพโหลดรูปภาพ รวมไปถึงกำหนดรายละเอียดเล็กๆน้อยๆมากมาย ดังนั้น ควรเตรียมข้อมูลที่จะใช้ประกอบในเว็บไว้ให้พร้อม และทำการ Resize ขนาดภาพให้พอดีและมีขนาดเท่ากัน เพื่อง่ายสำหรับการอัพโหลด ก็จะช่วยย่นระยะเวลาการทำเว็บได้อีกมาก
8. หลีกเลี่ยงสิ่งที่มีผลกระทบต่อการแสดงผลเว็บไซต์
เว็บมาสเตอร์หลายๆท่านต้องการให้เว็บของตัวเองสวยงามและมีลูกเล่น จึงพยายามที่จะใส่ลูกเล่น หรือเอฟเฟคต่าง ๆ เข้าไปในเว็บไซต์จำนวนมาก เช่น ภาพแฟลช รูปภาพที่มีความละเอียดสูง วีดีโอจำนวนมาก เป็นต้น แต่แทนที่จะทำให้คนเข้าชมมากๆ กลับกลายเป็นทำร้ายตัวเองได้ เพราะภาพแฟลช หรือวีดีโอจำนวนมาก จะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ของคนที่อินเตอร์เน็ตช้า ใช้เวลาในการแสดงผลเป็นเวลานาน ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ปิดเว็บนั้นไปในแทบจะทันที และไม่เคยคิดกลับเข้าไปอีก จึงควรระมัดระวังการแสดงผลข้อมูลเหล่านี้ ให้ไม่มากจนเกิน
9. เรียนรู้ กฏ กติกา มารยาท บนอินเตอร์เน็ต
แม้ว่าอินเตอร์เน็ตจะเป็นโลกที่เปิดกว้างไร้พรมแดน แต่การมีตัวตนอยู่ให้ได้อย่างยั่งยืนและประสบความสำเร็จบนไซเบอร์สเปซ ก็จำเป็นต้องพึ่งพา กฏ กติกา มารยาท ไม่แพ้การพบปะสังคมกับผู้คนจริงๆ ดังนั้น หากต้องการให้เว็บไซต์ยืนหยัดอยู่ได้ ควรศึกษาว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำบนอินเตอร์เน็ต เช่น การส่งแสปมเมล การโฆษณาในเว็บบอร์ดที่ไม่อนุญาตให้มีการโฆษณา เป็นต้น
10. สูดลมหายใจลึกๆ แล้วเตรียมตัวออกไปโลดแล่นกันได้เลย
เมื่อเว็บไซต์ของคุณออนไลน์สู่ไซเบอร์สเปซแล้ว การเรียนรู้นับจากนี้ก็จะเป็นไปโดยธรรมชาติ ซึ่งมีบทเรียนใหม่ๆมากมายเข้ามาไม่จบสิ้น ขอให้โชคดี และประสบความสำเร็จทุกท่านค่ะ
ที่มา : http://www.readyplanet.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539161872&Ntype=17